ปีพุทธศักราช 2566 มูลนิธิโครงการหลวงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ให้ดำเนินโครงการผลิตน้ำดื่ม/น้ำแร่ ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย เพื่อต่อยอดโรงผลิตน้ำดื่มเดิม ให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มการผลิตน้ำแร่จากธรรมชาติ โดยกระบวนการผลิตที่ควบคุมคุณภาพ และบริหารจัดการอย่างให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ด้วยระบบน้ำแร่ธรรมชาติและระบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) โดยนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานน้ำสำหรับบริโภค โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง เป็นน้ำแร่ที่ผ่านชั้นหินระดับความลึกกว่า 100 เมตร และคงคุณค่าแร่ธาตุสำคัญ 9 ชนิด ปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินงานร้อยละ 95 อยู่ระหว่างการทดสอบกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แบ่งได้เป็น 6 กระบวนการซึ่งได้ทำการปรับตั้งโปรแกรมอุปกรณ์ในแต่ละกระบวนการให้สามารถดำเนินการเดินเครื่องได้ทั้งหมด โรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ทั้งขนาด 350 มิลลิลิตร, 600 มิลลิลิตร และ 1,500 มิลลิลิตร ด้วยกำลัง
การผลิตสูงสุดถึง 12,000 ขวดต่อชั่วโมง 432,000 ขวด/สัปดาห์ ซึ่งจะสามารถกระจายน้ำแร่ที่มีคุณภาพไปยังชุมชนและผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง มีแผนสนับสนุนการเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอรองรับการผลิตในอนาคต
หลังจากนั้น องคมนตรีได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงร้านโครงการหลวง สาขาสุเทพ ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 23 สาขาของร้านโครงการหลวงที่มีทั้งโซนจำหน่ายผลิตผล ผลิตภัณฑ์แปรรูป และยังมีพื้นที่รับประทานอาหารว่าง และเครื่องดื่มจากวัตถุดิบโครงการหลวง ปัจจุบันความคืบหน้า
การดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 35 โดยมีแผนปรับปรุงพื้นที่ให้มีเอกลักษณ์ มีความทันสมัย สะดวกต่อการให้บริการ และรองรับลูกค้า คณะอาจารย์ และนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน องคมนตรีได้เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างแผนการดำเนินงานของสถานีวิจัยการเกษตรและพัฒนาโครงการหลวงโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เพื่อสนองในพระราชปณิธานการต่อยอดขยายองค์ความรู้โครงการหลวง จากพื้นที่สูงทางภาคเหนือสู่พื้นที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ สร้างชุมชนที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2568-2570) ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อการเกษตรตามกฎหมาย การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังจากนั้น องคมนตรีได้ร่วมหารือแนวทางการปรับปรุงโรงงานแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับภารกิจหลักของมูลนิธิโครงการหลวงในการส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงให้แก่ชาวเขา ลดการปลูกพืชเสพติด อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน
แสดงความคิดเห็น