วันนี้ (22 เม.ย. 68) ที่ ห้องประชุม 5 ชั้น 5 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ เปิดเผยผ่านการแถลงข่าวสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 13 ประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า หลังประสบปัญหาอุทกภัยหนักในปี 2567 ซึ่งรุนแรงยิ่งกว่าปี 2554 และ 2565 จังหวัดเชียงใหม่โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้เร่งประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยั่งยืน
 สาเหตุหลักของน้ำท่วมในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากปริมาณฝนที่มากเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากศักยภาพในการรับน้ำของแม่น้ำปิงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตะกอนดินที่สะสมอยู่ในลำน้ำมาตลอดนับจากปี 2555 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการขุดลอก ส่งผลให้ระดับความลึกของแม่น้ำจากเดิม 4 เมตร ลดลงเหลือเพียง 2 เมตร
   เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปี 2568 นี้ จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับกรมชลประทานได้เริ่มดำเนิน “โครงการขุดลอกแม่น้ำปิง” อย่างเป็นทางการ ครอบคลุมระยะทางรวม 41 กิโลเมตร จาก อ.แม่แตง ถึง อ.สารภี แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนบน (เหนือเมือง) ระยะทาง 13 กิโลเมตร ตอนกลาง (ในเขตตัวเมือง) ระยะทาง 20 กิโลเมตร ตอนล่าง (ใต้ตัวเมือง) ระยะทาง 8 กิโลเมตร โดยพื้นที่หลักที่ดำเนินการอยู่ระหว่าง กม. 577+000 ถึง กม. 560+500 รวมระยะทาง 16.5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 5 ตอนย่อย มีปริมาณดินที่ต้องขุดลอกกว่า 240,000 ลูกบาศก์เมตร
   3 แนวทางหลักในการดำเนินการปีนี้ ได้แก่ การขุดลอกตะกอนดิน ที่สะสมในลำน้ำออกไปทิ้งยังพื้นที่สาธารณะที่กำหนดไว้ ไม่วางไว้ริมแม่น้ำ การขยายหน้าตัดแม่น้ำปิง เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำและลดความเสี่ยงน้ำเอ่อล้น และการปรับปรุงฝายหินทั้ง 3 แห่ง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการรับฟังความคิดเห็น
 ในกระบวนการขุดลอกจะใช้เรือดูดตะกอนขึ้นมายังเรือลำเลียงตะกอนก่อนส่งต่อไปยังรถแบคโฮ และบรรทุกโดยรถ 6 ล้อเพื่อขนออกนอกพื้นที่ โดยมีจุดขึ้นดินทั้งหมด 15 จุด เช่น ต.แม่ป่าไผ่ อ.สันทราย, สวนสาธารณะใกล้โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว และบริเวณประตูระบายน้ำป่าแดด
แม้โครงการจะส่งผลกระทบด้านจราจรจากการใช้รถขนดินจำนวนมาก แต่จังหวัดได้เตรียมมาตรการควบคุมและบรรเทาผลกระทบ เช่น การประสานตำรวจจราจรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการล้างเศษดินที่อาจหล่นระหว่างขนย้าย
  โครงการขุดลอกครั้งนี้กำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.) ก่อนที่ฝนจะตกหนักในช่วงกันยายน-ตุลาคม หากทำสำเร็จ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรองรับน้ำของแม่น้ำปิงได้มากขึ้น ลดระดับน้ำท่วมในเขตเมืองจาก 5.30 เมตร เหลือประมาณ 4.30 เมตร ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
เชียงใหม่กำลังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องประชาชนและสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองในระยะยาว








 สิ่งศักดิ์ พรมเอี่ยม ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

แสดงความคิดเห็น