พ่อเมืองสุพรรณบุรี ส่งมอบนักศึกษาพัฒนากร รุ่นที่130 จบการฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม ณ พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
วันที่ 22 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมเลิศธานี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประธานส่งมอบนักศึกษาพัฒนากร ตามโครงการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติราชการ หลักสูตร “พัฒนากรก่อนประจำการ รุ่นที่ 130“ โดยมี นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน เป็นผู้แทนรับมอบฯ พร้อมด้วย นางเอกหทัย พนมอุปถัมภ์ พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี นายเสน่ห์ บุญสุข รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี และครัวเรือนรับรอง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีส่งมอบฯ จำนวน 100 คน ให้กรมการพัฒนาชุมชนหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกภาคสนาม
ในการนี้ นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้เกียรติพบปะและให้กำลังใจ พร้อมมอบแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ราชการแก่นักศึกษาพัฒนากร รุ่นที่ 130 โดยให้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เสียสละ และรู้จัก “การเป็นผู้ให้” แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งการเป็นผู้ให้ ถือเป็นเสน่ห์ของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงได้มอบของที่ระลึกเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่นักศึกษาพัฒนากร รุ่นที่ 130
นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประธานในพิธีฯ กล่าวว่า ในนามจังหวัดสุพรรณบุรี ขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ไว้วางใจให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานภาคสนามในครั้งนี้ และได้ให้ข้อคิดแก่พัฒนากรว่า มิติการทำงานของข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีกรอบในการทำงานแต่เราจะใช้วิธีในการเข้าถึงชุมชนให้เร็วที่สุดในการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน และกล่าวว่า พัฒนากรทุกท่านโชคดีที่บรรจุที่กรมการพัฒนาชุมชน เพราะเป็นงานที่เป็นผู้ ให้ด้วยหัวใจ แล้วจะเกิดศรัทธา และเป็นหลักชัยของกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงการปฏิบัติตัวให้เป็นที่รักของประชาชน และสิ่งสำคัญคือให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมายให้เต็มศักยภาพ ให้รักษาเกียรติภูมิของการเป็นข้าราชการและการเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโอกาสนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชน ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ในชุมชน เพราะผ่านกระบวนการศึกษาชุมชน กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยผ่านการทำประชาคมของประชาชนในหมู่บ้าน นำไปสู่ กระบวนการวางแผน และดำเนินการตามแผน จนได้ผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งชุมชนจะได้ให้การดูแลรักษาต่อไป
ด้าน นางเอกหทัย พนมอุปถัมภ์ พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวรายงานสรุปผลการฝึกภาคสนามฯ ว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนมอบหมายให้จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม 2568 เรียนรู้ในหมู่บ้านเรียนรู้ ณ บ้านป่าสะแก ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 11-22 มีนาคม 2568 เรียนรู้ในหมู่บ้านฝึกปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่ 10 อำเภอ ทั้งนี้ นักศึกษาพัฒนากรได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนและร่วมพักค้างในชุมชนตลอดระยะเวลาฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม โดยมี นายอานันท์ กันทาสม นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ ประธานรุ่นพัฒนากร รุ่นที่ 130 ผู้แทนนักศึกษาพัฒนากร รายงานสรุปผลการฝึกปฏิบัติงานภาคสนามและมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ดำเนินการร่วมกันกับชุมชน โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ จำนวน 33 โครงการ และผู้แทนพัฒนากรนำเสนอโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทน จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการแปรรูปฟางข้าว สร้างปุ๋ยอินทรีย์ คืนชีวิตสู่นา 2) โครงการส่งเสริมอาชีพการทําข้าวเกรียบมะม่วง 3) โครงการอบรมการเพาะเลี้ยงปลาตะเพียนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน 4) โครงการเสริมองค์ความรู้ สร้างชุมชนเข้มแข็ง ด้วยโคก หนอง นา
นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณจังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนราชการ และพื้นที่หมู่บ้านฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม ทั้ง 10 อำเภอ ที่เปรียบเสมือนครูที่ให้พัฒนากรได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในงานพัฒนาชุมชน ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อไป และขอขอบคุณครัวเรือนรับรอง ทั้ง 33 ครัวเรือน ที่ให้การดูแลเปรียบเหมือนลูกหลานเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมการพัฒนาชุมชนจะได้รับการสนับสนุนอีกครั้งในโอกาสต่อไป
ภาพ/ข่าว : สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน
ทีมข่าวNEWS24 :รายงาน
แสดงความคิดเห็น