วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2567) ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานเปิดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 (16th Thailand Road Safety Seminar) ภายใต้แนวคิด “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย : Road Safety Stronger Together” โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมคณะร่วมพิธีเปิดการสัมมนา
    นายอนุทิน กล่าวปาฐกถาเปิดการสัมมนาว่า ไม่ว่าจะได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งใด ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลที่แล้ว และได้มีโอกาสมากำกับดูแลส่วนงานกระทรวงคมนาคมด้วย และในวันนี้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. การสร้างจิตสำนึกในความปลอดภัยและความเข้าใจในกฎจราจร 2. การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด 3. การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของถนน เส้นทางสัญจร และสัญญาณจราจร 4. การบำรุงรักษาสภาพของรถยนต์ให้มีความปลอดภัย อยู่ในสภาพดีเสมอ ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ร่วมมือกันดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
   นายอนุทิน กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนต้องอาศัยการบูรณาการรณรงค์ร่วมมือของทุกภาคส่วน ต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ เพราะมูลเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้นก็เปลี่ยน มีสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่เร่งรีบ เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่ต้องใช้ยวดยานพาหนะเป็นตัวขับเคลื่อน เหมือนตอนนี้ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น LINE Man Grab ส่งอาหาร ต้องส่งให้เร็ว ต้องส่งให้ด่วน ต้องหิ้วของไปให้มากที่สุดบนหลังรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งหากย้อนไป 10-20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีมากขนาดนี้ ดังนั้น
จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียเพิ่มมากขึ้น และในทุกวันนี้อุปกรณ์การช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อลดภาระของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะก็เพิ่มมากขึ้น มีระบบ Automatic ต่าง ๆ จนบางที “เราใช้ Situation awareness หรือการใช้สัญชาตญาณเพื่อให้เกิดความปลอดภัยลดน้อยลง” เดี๋ยวนี้บางทีไปไหนเราใช้หูฟัง เลี้ยวซ้ายภายใน 300 เมตร เลี้ยวขวาภายใน 20 เมตร ทำให้เราไม่ได้มีสมาธิในการดูสถานการณ์รอบตัว ซึ่งคำนี้ตนเรียนรู้มาจากการเป็นนักบินว่า ถึงแม้เราจะบังคับอากาศยานของตัวเองในอากาศก็ตามที ถึงแม้ว่าอากาศจะไม่มีเครื่องบินข้าง ๆ ไม่มีไฟแดง ไม่มีสี่แยก แต่คุณต้องมี Situation awareness คือ ต้องคิดตลอดว่าถ้าตอนนี้ วันนี้เครื่องมันดับ จะทำอย่างไร ต้องทำความคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศที่บินผ่านไป ซึ่งที่จริงแล้ว Situational awareness ไม่ได้ใช้แค่อยู่บนอากาศ แต่มันต้องอยู่ทุกที่ เดินเข้ามา ในห้องประชุมนี้ก็ต้องระวังอย่าไปเตะปลั๊กกลางห้อง ดังนั้น Situation awareness หรือความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเรา ในสภาพรอบตัวเรา ควรจะต้องมีไว้ตลอดเวลา
   นายอนุทิน กล่าวต่อไปอีกว่า การสัมมนาวิชาการฯ วันนี้เรามีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณมากมายให้กับทุก ๆ ท่าน ก็ต้องถือว่าสิ่งที่เราได้มา บางทีก็แลกกับชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เราจึงต้องทำงานอย่างหนัก  การทุ่มเทของเรามากกว่าการที่ต้องมีต้นทุนที่หนักหนาสาหัสมาก ก็คือ ชีวิตของผู้สัญจรไปมาหรือชีวิตของประชาชนที่ต้องแลกกับมันมา หลายคนทราบดีว่าเมื่อมีอุบัติเหตุทางถนนไม่ว่าสาเหตุใดก็ตามมันนำมาซึ่งความเศร้าโศก สลด หดหู่ใจ เสียกำลังใจ ดังนั้นตราบใดที่เรายังมีภารกิจหน้าที่ที่ต้องดูแลงานด้านนี้อยู่ ตนขอให้ทุกท่านอย่าได้เสียกำลังใจ และต้องสร้างกลไกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้ได้อุบัติขึ้นซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ดังกรณีไฟไหม้รถบัสของน้อง ๆ นักเรียน ไม่มีใครสามารถทนเห็นสภาพจริงได้ ไม่ว่าเราจะเข้มแข็งขนาดไหน ถ้าไปเจอสภาพจริงในวันนั้น ต้องปาดน้ำตา เพราะมันไม่ไหวจริง ๆ ทั้งสลดกับคนที่สูญเสียชีวิต ทั้งสลดกับผู้บาดเจ็บ สลดกับคนที่เหลือ ญาติ แล้วก็นึกถึงอนาคตของเขา แล้วที่น่าสลดที่สุดคือ มันป้องกันได้ ทำไมปล่อยให้เหตุมันเกิดขึ้น ด
งนั้น เราต้องใส่ใจตลอดเวลาว่า มันไม่มีแม้กระทั่ง 1% ที่เราจะยอมให้เกิดความเสี่ยง ถ้าเราคิดแบบนี้ได้เราก็จะไม่ยอม ไม่มีการเพิ่มถังแก๊สแม้กระทั่งครึ่งถังหรือ 1 ถัง กฎหมายให้ใส่ 6 ถังก็ต้องใส่ 6 ถัง ถ้าใส่เกินกว่านั้นต้องดำเนินคดีด้วยความเฉียบขาด ซึ่งมันก็เป็นข้อเสนอของทุกครั้งที่มีการประชุม เราต้องอย่าให้มันเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครั้ง แล้วจึงค่อยมาใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ มันสายเกินไป ขณะเดียวกันผู้ขับขี่ผู้ใช้ยวดยานบนถนน คนขับก็ต้องคิดว่า เราไม่ได้รับผิดชอบชีวิตเรา เรารับผิดชอบชีวิตทุกคนที่อยู่หลังพวงมาลัย เราต้องมีความตื่นตัว ต้องมีสำนึกว่า เรากำลังมีคนอยู่ในภาระความรับผิดชอบของเรา ถ้าเราทุกคนช่วยกันร่วมมืออุบัติเหตุมันก็จะลดน้อยลง เขาให้ขับไม่เกิน 120 ก็อย่าเกิน 120 แขวนพระอะไรก็ช่วยไม่ได้ เพราะหลวงพ่อคูณยังเคยบอกว่ากระโดดลงตั้งแต่ขับเกิน 120 แล้ว ดังที่มีคนเคยไปโวยวายท่านว่า แขวนหลวงพ่อแล้วทำไมรถยังคว่ำ ยังบาดเจ็บสาหัส หลวงพ่อเลยถามว่าแล้วขับไปเท่าไหร่ คนนั้นตอบขับแค่ 160 170 หลวงพ่อจึงบอกว่า กูกระโดดลงตั้งแต่ 120 แล้ว ซึ่งมันเป็นข้อสั่งสอนที่ง่ายมากที่เราเข้าใจ เพราะถ้าเราขับเกิน Limit เมื่อไหร่ เข็มความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมันก็จะเคลื่อน
ถ้าเราอยู่ในวงการนี้อุบัติเหตุมันก็จะเกิดขึ้น เรียกว่า Chain of Event จะเริ่มจาก 1 2 3 4 เขาเรียกว่า ห่วงโซ่สถานการณ์ เราต้องอย่าให้มันนับ 1 เด็ดขาด ไม่งั้นมันก็จะไป 2 3 4 5 และไปถึงจุดที่รับไม่ได้และจะเกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ต้องมีความตื่นตัว มีความตระหนัก ความรับผิดชอบ และความพร้อมตลอดเวลา แล้วมันก็จะไม่มีปัญหา










ประยงค์ วิลัย /ภาพข่าว
 

แสดงความคิดเห็น