ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเมียนมา บางส่วนก็อยู่ในประเทศไทยแต่ค่อนข้างเล็ก และมีอัตราการเร่งตัวต่ำกว่าที่อยู่ในฝั่งเมียนมาที่แนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างฝั่งอินเดีย และฝั่งไทย ตามแนวทะเลอันดามันไปถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา
แต่อย่างไรก็ตามจากการติดตามประเมินรอยเลื่อนที่จะผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่ 3 แหล่ง คือ 1. รอยเลื่อนใน จ.กาญจนบุรีสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 อันจะส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ ได้ ก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วขนาด 5.9 อันส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นมีอาคารสูงไม่มาก 2. รอยเลื่อนสกาย ที่ผ่ากลางเมียนมาจากมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ย่างกุ้ง และ 3. รอยเลื่อนอาระกัน ซึ่งเป็นการมุดตัวของแผ่นเปลือกที่อยู่ฝั่งตะวันตกเมียนมา สามารถเกิดแผ่นดินไหวระดับเกิน8.5 โดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว
เมื่อดูจากสถิติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะเกิดห่างกันเฉลี่ยประมาณ 400-500 ปี ดังนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว 260 ปีอาจจะมีการสะสมพลังงานแต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะระเบิดในเร็ววันนี้ หรืออาจจะเร็วขึ้นกว่า 400 ปี หรืออาจจะนาน กว่า700 ปีก็ได้
แต่เมื่อรอยเลื่อนนี้เกิดแผ่นดินไหวก็จะมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ เพราะด้วยสภาพดินมีลักษณะพิเศษแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ที่สามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าตัว อย่างเช่นแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ก็เป็นคลื่นความถี่ต่ำ สั่นจังหวะช้าๆ ไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารขนาดเล็ก เพราะจังหวะการโยกไม่ตรงกัน แต่อาคารสูงโยกตัวเข้าจังหวะกับพื้นดินในจังหวะช้าๆจังหวะตรงกันก็ขยายความรุนแรงส่งผลกระทบรุนแรงอาคารสูงมาก
ซึ่งผลการสำรวจตามหลังชี้ชัดว่าอาคารเล็กไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ แต่อาคารสูงค่อนข้างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า และมีอาคารถล่มร้ายแรงคือ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศติดต่อมายังตนพร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวที่ไกลที่สุดในโลกที่ทำให้อาคารที่สูงที่สุดถล่มนับเป็นสถิติโลกครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจนัก
อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็มีกฎหมายกำหนดให้อาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี2550 โดยกรมโยธาธิการ และผังเมือง เป็นผู้กำหนดเส้นกราฟการสั่นไหวรุนแรงที่ต้องรับให้ได้ ซึ่งความจริงโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวแม้จะมีน้อยมากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องออกแบบเผื่อเอาไว้โดยแบ่ง กทม.เป็น 10 พื้นที่ที่สำคัญที่สุด คือ หมายเลข 5 ตั้งแต่บริเวณกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี มีการตั้งสถานีวัดระดับความรุนแรงไว้ 5 จุด ซึ่งที่ได้ข้อมูลมาแล้ว 2 จุด คือ ที่สถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หากคำนวณแล้วพบว่าแรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของแรงสั่นสะเทือนที่กำหนดเป็นมาตรการฐานก่อสร้างอาคารสูง เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว เน้นที่โครงสร้างเสาต้องไม่พัง กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กต้องไม่เสียหาย สลักต้องไม่แยกจากเสา ตัวพื้นต้องไม่แยกออกมา ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างก็ไม่ได้เน้น เช่น กำแพงกั้นห้อง ฝ้า เพดาน ระบบท่อน้ำท่อประปาที่มีโอกาสได้รับความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามต้องไปตรวจสอบดูอีกครั้งว่า มีการออกแบบดีจริงหรือไม่ และมีอะไรผิดพลาดหรือไม่
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวอีกว่า เราควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอยเลื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศ ด้วยจัดสรรงบประมาณมากกว่านี้ และควรเข้าไปตรวจสอบ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอาคารเรียนหลายแห่งในจ.เชียงราย เพราะตามข้อมูลการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารเดิมจะใช้งบประมาณ10-20% ของงบประมาณการก่อสร้างอาคารใหม่
ซึ่งที่ผ่านมาเรามีงานวิจัยทดลองติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนบนอาคารสูง โดยติดตั้งที่อาคารโรงพยาบาลเชียงใหม่ และโรงพยาบาลเชียงราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคาร และแจ้งต่อผู้ใช้อาคารในเวลาสั้นๆ 5 นาที ว่าสภาพอาคารเป็นอย่างไร ตำแหน่งไหนอันตราย และยังขยายการทดลองไปยังที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในส่วนที่กรุงเทพฯ ก็เตรียมทดลองติดตั้งที่โรงพยาบาลกลาง ทั้งนี้หากมีหน่วยงานใดต้องการที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทีมวิจัยของเรายินดีให้คำปรึกษา
ด้าน รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมานั้นทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ ด้วยความเร็วคลื่นที่เร็วกว่าเสียง และน้อยกว่าแสงมีเวลา 7 นาทีก่อนมาถึงกรุงเทพฯ แต่ว่าระบบการเตือนภัยของประเทศไทยล่าช้า และไม่ครอบคลุม เนื่องจากส่งผ่านระบบSMS ที่มีข้อจำกัดส่งได้เพียง 2 แสนเลขหมาย ทั้งๆที่หากเตือนได้เร็วจะช่วยลดความสูญเสียได้
ทั้งนี้เมื่อดูไทม์ไลน์ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว 13:20 น. ตามเวลาประเทศไทย อาคาร สตง.พังถล่มในเวลา13.26 -13.27 หรือประมาณ 7 นาที กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งศูนย์เตือนภัยประกาศในเว็บเตือนภัยเวลา 13.36 น. ซึ่งเป็นเวลาตึก สตง.ถล่ม และคนเสียชีวิตแล้ว และเรามี SMS เฉพาะหน่วยส่งผู้ว่าราชการจังหวัด สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และผู้บริหารทั้งหมดเวลา 14.30 น. และแจ้งให้กับประชาชนทั่วไปโดยส่ง SMS ให้กับกสทช.เมื่อดูเวลาค่อนข้างล่าช้ามาจากจุดเริ่มต้น 13.36 ดังนั้นการทำงานแบบอนุกรมต่อกันไม่เวิร์ค ทันทีที่เกิดเหตุควรมีระบบแจ้งต่อประชาชนทันที
ดังนั้นต้องมีการปรับระบบซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ปรับปรุงทำเป็นระบบเซลล์บอร์ดแคสต์ ซึ่งจะส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาที หรือระดับวินาที โดยจะสามารถใช้ได้ในเดือน ก.ค. 2568 เหตุนี้จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในการจัดทำระบบเซลล์บอร์ดแคสต์ให้ออกมาใช้ได้จริง เพราะมีองคาพยพที่ทำเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ปัจจุบันก็คุยกันถึงการลดขั้นตอนการขออนุญาตผู้บริหาร เช่นนั้นในระหว่างนี้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ระบบการแจ้งผ่าน SMS ทันที โดยไม่ต้องผ่าน กสทช. รวมถึงช่องทางการแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดียไปก่อน
ขณะที่นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติมาหลายครั้ง และสภาผู้บริโภคฯ จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี2565 เพื่อขอตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ และเรียกร้องเกี่ยวกับระบบการเตือนภัย รวมถึงที่ผ่านมาประชาชนก็เรียกร้องให้มีระบบเซลล์บอร์ดแคสต์แล้ว เพราะเป็นเทคโนโลยีสามารถส่งสารผ่านเสาสัญญาณโทรคมนาคมให้กับผู้ที่อยู่บริเวณจุดเสี่ยงนั้นทั้งหมด
ซึ่งที่ผ่านมาสภาองค์กรผู้บริโภคเคยตามเรื่องนี้ และกระทุ้งไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี2566 หลังเกิดเหตุการณ์เยาวชนก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน และก็ได้รับการตอบกลับวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีการจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้ของบอร์ดใหญ่ของกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2565
โดยได้รับงบประมาณเป็นรายจ่ายประจำปี2567 ผูกพันปีงบประมาณ2568 แต่จากแถลงของนายกฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องพบว่ามีการใช้งบประมาณไม่ได้เป็นไปตามเอกสารตัวนี้ แต่มีการใช้งบกองทุนยูโซ่ของกสทช. ที่เรียกเก็บจากใบอนุญาตประมาณ 1,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เรื่องนี้ต้องติดตามและสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป และเรียกร้องทำระบบให้เร็วกว่านี้ และต้องทำระบบสั่งการที่มีความเป็นเอกภาพ เพื่อให้การสื่อสารมีความชัดเจนครอบคลุมคนมีปัญหาการได้ยินเสียง และผู้มีปัญหาสายตาด้วย
นอกจากนี้อย่าโยนภาระทั้งหมดมาที่ประชาชน โดยบอกว่าประชาชนต้องมีความรู้เท่าทันอย่างเดียว แน่นอนว่าตรงนี้ประชาชนก็ต้องทำความรู้เท่าทัน แต่รัฐก็ต้องมีการจัดทำชุดความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องสำหรับประชาชนด้วยถึงจะมาบอกว่าประชาชนต้องมีความรู้ความเท่าทัน แต่ตั้งคำถามว่ามีชุดข้อมูลเหล่านี้ออกมาหรือไม่
“เรื่องภัยพิบัติต่างๆ อย่าเอาการเมืองมาวาง เพราะอะไรที่เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่วางไว้ก็ให้เป็นอำนาจ และหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ เช่น การเปิดข้อมูลแจ้งเตือนภัยผิดพลาดก็ต้องขอโทษตรงนี้ ซึ่งไม่มีใครไปโจมตี เนื่องจากแจ้งเตือนดีกว่าไม่แจ้ง แต่ในสังคมวันนี้สอนให้คนกลัวจนไม่กล้าทำหน้าที่ในระบบราชการที่เป็นอยู่ขณะนี้แล้วปล่อยให้เป็นภาระของประชาชนเอาตัวรอดด้วยตัวเองโดยวาทกรรมว่าประชาชนต้องมีความรู้เพิ่มขึ้น และต้องมีความรู้เท่าทัน คำถามง่ายๆแล้วเราจะมีรัฐบาลและกลไกเหล่านี้ไว้เพื่ออะไร”นายอิฐบูรณ์ กล่าว
ดร.คมสัน กล่าวว่า สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวนอกจากการส่งสัญญาณ หรือส่งข้อมูลเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังแล้วต้องมีระบบเรื่องของการจัดการที่ดี เพราะขบวนการหลังจากมีภัยต้องมีการดูแลจัดการความวิตกกังวลของคน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐ เช่น การจัดให้มีการตรวจสอบ เพราะทุกคนรู้สึกกังวล เนื่องจากไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมียนมาห่างจากประเทศไทยเยอะมากแล้วผลกระทบก็น้อยแต่ผลกระทบทางด้านความรู้สึกของคนมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีการอพยพทุกอย่างช็อตไปหมด เช่น ขนส่งสาธารณะ
ถ้าหากเทียบกับญี่ปุ่นเขาจะมีการฝึกคนตั้งแต่เด็กๆในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพราะประเทศญี่ปุ่นอยู่ในวงแหวนแห่งไฟเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่เขารู้วิธีปฏิบัติตน และอยู่ได้ ส่วนประเทศไทยถ้ามีการเตือนภัยที่ดีแต่คนยังไม่รู้วิธีปฏิบัติก็จะทำให้ความตื่นตระหนกเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากตื่นตัวปรับปรุงระบบเตือนภัยแล้วจะต้องมีกระบวนการเรียนรู้และฝึกให้ทุกคนรับรู้และปฏิบัติตัวด้วย
//