ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ธีรพจน์ ฟักน้อย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาตกโรค ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมรับมือสถานการณ์อหิวาตกโรค พร้อมวางแนวทางการป้องควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดมายังพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจึงได้มีการเฝ้าระวังและวางมาตรการป้องกันไม่ให้เชื้ออหิวาตกโรคเข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ แม้ว่าจังหวัดกาญจนบุรีจะยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่ได้มีมาตรการเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาตกโรคในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะควบคุมเข้มงวดในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการสร้างความรอบรู้ในการป้องกันควบคุมโรคแก่ประชาชน เน้นคุมเข้มสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่ม “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และบริโภคอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ที่ปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำ ทั้งการออกตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำประปาและแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชน สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารและน้ำดื่มในตลาดสดและร้านอาหาร ควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ผ่านสื่อท้องถิ่นและกิจกรรมชุมชนให้คำแนะนำผู้ประกอบการร้านอาหารในการเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาดและรักษาความสะอาดของสถานที่ประกอบอาหาร พร้อมทั้งยังได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลและทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) รองรับหากพบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้ออีกด้วยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่ผ่านมาในประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ในปีนี้ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยอหิวาตกโรคจำนวน 59 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.091 ต่อประชากรแสนคน โดยไม่พบผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่, แพร่, กรุงเทพมหานคร, เพชรบูรณ์, ขอนแก่น, ลำพูน, อุทัยธานี, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี และกาฬสินธุ์ สำหรับเขตสุขภาพที่ 5 พบผู้ป่วยจำนวน 3 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.058 ต่อประชากรแสนคน โดยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต


สำหรับสาเหตุและอาการของโรคอหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ Vibrio cholerae สามารถแพร่กระจายผ่านอุจจาระ อาเจียน หรือแมลงวันที่เป็นพาหะ มีระยะฟักตัว 1-5 วัน (เฉลี่ย 1-2 วัน) อาการของโรค มีดังนี้ อาการทั่วไป เป็นอาการท้องเสียเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจีย หากอาการรุนแรงจะท้องเสียมีมูกเลือด สูญเสียน้ำในร่างกายจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


คำแนะนำในการป้องกันโรค ขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและใช้ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำขับถ่ายอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารดิบหรืออาหารที่มีความเสี่ยง จะสามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้ ทั้งนี้ สถานการณ์ในจังหวัดกาญจนบุรีจนถึงปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยอหิวาตกโรค แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขได้กำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวังและดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคนี้ในระยะยาว







     //////////////////////////////

ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์

แสดงความคิดเห็น