ในระยะเร่งด่วน ให้ดำเนินการตามแนวคิด “ท่าอากาศยานมีชีวิต ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยออกแบบตกแต่งภายในท่าอากาศยาน 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง ให้สอดคล้องกับความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เร่งพัฒนาเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เร่งรัดงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน เร่งรัดการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เร่งรัดผลการศึกษา/ออกแบบท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณา รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้งาน และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจจับวัตถุแปลกปลอม โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับระยะกลาง (1 - 3 ปี) ให้ดำเนินโครงการตกแต่งภายในท่าอากาศยานทั้ง 7 แห่ง โดยใช้ งบประมาณปี 2569 เร่งจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ตามมติ ครม. เร่งรัดให้ทุกท่าอากาศยานได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะ โดยจัดทำแผนกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน รวมทั้งการสร้างความสมดุลของรายได้ ด้วยการมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการบิน (Aera Revenue) ที่เหมาะสม เร่งรัดการเพิ่มรายได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non- Aero Revenue) เพื่อไม่ให้สร้างภาระหรือต้นทุนการเดินทาง และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ด้วยการเร่งรัดให้มีและเพิ่มการให้บริการเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ การเปิดให้บริการ CIQ กับเที่ยวบินต่อเนื่อง connecting flight ในท่าอากาศยานหลัก
นอกจากนี้ ได้กำชับให้ ทย. เร่งพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดทุกแห่ง ให้เป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้กำหนดมาตรฐานและแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการบิน ทั้งด้านความปลอดภัย และคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร สายการบิน และนักลงทุนในระดับนานาชาติ และเชื่อมโยงการเดินทางอย่างไร้รอยต่อด้วยการขยายผลโครงการศูนย์ขนส่งต้นแบบไปยังท่าอากาศยานต่างๆ ที่เหมาะสม ส่งเสริมการบริการระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงวางแผนให้มีระบบรางเข้ามาให้บริการภายในท่าอากาศยาน
พร้อมนี้ได้มอบให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ องค์กรระหว่างประเทศ หรือการพัฒนาโครงการร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ และการยกระดับระบบความปลอดภัยให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น
นางมนพร กล่าวในตอนท้ายว่า จากการรับฟังรายงานผลการดำเนินงานและโครงการสำคัญของ ทย. จึงได้สั่งการให้ ทย. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับชื่นชมที่ ทย. เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธและวัตถุอันตรายประจำท่าอากาศยาน เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธและวัตถุอันตรายเปรียบเหมือนประตูด่านแรกในการให้บริการประชาชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร โดย ทย. ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพและการให้บริการแก่พนักงานตรวจค้น (Screener) ทุกท่าอากาศยานในสังกัด เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพ ทักษะการสื่อสาร การให้บริการที่ดี ทักษะการบริหารจัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างเป็นมืออาชีพ และการบริหาร การทำงานเป็นทีม รวมถึงเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากโครงการให้แก่เพื่อนร่วมงานในสังกัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการให้บริการขององค์กร ควบคู่ไปกับมาตรฐานด้านความ ปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงานเลขานุการกรม
กรมท่าอากาศยาน
pr@airports.go.th
2 ธันวาคม 2567
แสดงความคิดเห็น