จากวิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความรุนแรงมากขึ้น และยังส่งผลกระทบออกเป็นวงกว้าง เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาอุทกภัยและหาแนวทางในการรับมือ กรมชลประทานได้ออกมาให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติ ครั้งนี้ “นายเดช เล็กวิชัย” รองอธิบดีกรมชลประทาน แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและเสนอแนวทางแก้ปัญหา “เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายถือว่าหนักสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ คือต้องฟื้นฟูระบบคลองต่างๆ ที่ใช้เป็นเหมือนเส้นเลือดย่อยๆ ในการช่วยระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ จัดการให้หมด โดยเฉพาะน้ำท่วมในเขตเมืองเพราะผังเมืองบางทีไม่ได้รองรับฝนที่ตกเกินกว่ากำหนด น้ำควรจะมีทางไป หรือฟลัดเวย์สำหรับการจัดการมวลน้ำในภาคเหนือ มองว่าตอนนี้โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงรายหรือจังหวัดเชียงใหม่เอง ตัวของอาคารบังคับน้ำ โครงสร้างพื้นฐานยังมีไม่มากนัก เรื่องอนาคตเป็นเรื่องของการศึกษาโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ในการที่จะปรับปรุงลำน้ำ หรือทางผันน้ำจากแม่น้ำกกลงอ้อมเมืองลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด”"เนื่องจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะหมดสิ้นฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคกลาง หลังสิ้นเดือนตุลาคม เรามีระยะเวลาการดำเนินงานที่ต้องติดตามพื้นที่เสี่ยงอีกประมาณหนึ่งเดือน ฉะนั้นการจัดการจะมีภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ตรงนี้ต้องจัดการในเรื่องของเขื่อน เพื่อให้กักเก็บน้ำได้มากที่สุด แล้วไม่ระบายน้ำมากระทบกับชาวบ้าน ในเรื่องของการระบายน้ำเรามีพร่องน้ำรอในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลอง ลำน้ำธรรมชาติ เพื่อรองรับฝนที่จะตกในพื้นที่ ส่วนการบริหารจัดการทุ่งต่างๆ กรมชลประทานดำเนินการในเรื่องของการจัดระบบการเพาะปลูก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวภายในเดือนนี้แล้วเสร็จทั้งหมดในพื้นที่ประมาณหนึ่งล้านไร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำไม่เกิดความเสียหาย”
นอกจากนี้สภาพดินฟ้าอากาศของเพื่อนบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตาม “ต้องมีการแชร์ข้อมูลกันว่าสภาพอากาศในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร มีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนในประเทศอย่างไร ต้องรู้ว่าเค้าจัดการยังไง เพื่อที่เราเองจะได้รู้ว่าต้องจัดการบ้านเรายังไง”
ทั้งนี้ “รองฯ เดช” ยังกล่าวปิดท้ายอีกว่า ทุกๆ บทเรียนของอุทกภัยที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ถอดบทเรียน เพื่อนำมาสู่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำ “จากกระบวนการที่ผ่านมา เราเอาเคสวิกฤตมาถอดบทเรียน มองว่าประสิทธิภาพในการจัดการน้ำของกรมชลประทานดีขึ้นเรื่อยๆ เราต้องจัดการน้ำให้น้ำมีที่อยู่และมีที่ไป ถ้าน้ำไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ไป มันก็อั้น พออั้นปุ๊บก็กลายเป็นไปไหนไม่ได้ ระเบิดเป็นโดมิโน่ เราต้องทยอยให้น้ำมีที่อยู่ มีที่ไปที่เหมาะสม ผลกระทบมันก็จะน้อย”
สุดท้ายนี้คนไทยทุกคนต้องปรับตัวและอยู่คู่กับน้ำให้ได้ “เราต้องให้คนเรียนรู้อยู่กับน้ำได้ เพราะเมืองไทยฝนเยอะ เราสามารถกักเก็บน้ำตอนฝนตกได้แค่หนึ่งในสามจากฝนที่ตกทั้งประเทศ ฉะนั้นส่วนที่เหลือ น้ำก็ต้องมีที่ไป แต่จะไปไหนได้สุดท้ายก็ไหลมาหาพวกเรา ฉะนั้นทุกประเทศเหมือนกัน ต้องปรับตัวให้อยู่กับน้ำ จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่เก็บน้ำ ทางน้ำผ่าน ต้องระบุชัดเจน ทุกประเทศเป็นเหมือนกัน ตอนสุดท้ายต้องมาดูเรื่องความเสียหาย มาตรการช่วยเหลือเยียวยามีความจำเป็น อย่างเรื่องน้ำท่วมเชียงราย คงต้องมีการศึกษาเรื่องการผันน้ำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส่วนเรื่องระบบชลประทาน จะบริหารจัดการ ระบาย และกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดในฤดูฝน เรามีทีมควบคุมการระบายน้ำ การทดน้ำ ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ โดยใช้ผลคาดการณ์ที่มีการยืนยันในเรื่องของการจัดการภายใต้สภาวะของระบบที่มีอยู่”
แสดงความคิดเห็น