นายยุทธนา มหานุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2535 ราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์บริเวณตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอแหล่งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำป่าไหลหลากให้ราษฎร เนื่องจากพื้นที่อพยพอยู่บริเวณพื้นที่สูงสลับภูเขา ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 53,500 ไร่ การส่งน้ำเข้าพื้นที่ทำได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งไม่มีเครื่องมือควบคุมน้ำที่หลากมาจากทางเหนือ กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมอาคารประกอบและระบบส่งน้ำ บริเวณหมู่ที่ 12 บ้านกิ่วเคียน เทศบาลตำบลจริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ระยะเวลาโครงการปีงบประมาณ พ.ศ.2554-2568 ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติ 4,800 ล้านบาท
“ลักษณะโครงการฯ เป็นเขื่อนดิน มีความสูง 55 เมตร ยาว 440 เมตร ความจุ 73.70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม) พร้อมอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 1,831.59 เมตร และระบบส่งน้ำด้วยท่อความยาวรวม 250 กิโลเมตร ปัจจุบันมีผลงานการก่อสร้างทั้งโครงการไปแล้วกว่า 98% สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 38,600 ไร่ และเมื่อโครงการ ฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 จะสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ใน อ.ท่าปลา 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลจริม หาดล้า ท่าปลา ร่วมจิต น้ำหมัน และ อ.เมือง 4 ตำบล ได้แก่ ต.วังดิน หาดงิ้ว บ้านด่าน และแสนตอ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 53,500 ไร่ ฤดูแล้ง 39,920 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์รวม 60 หมู่บ้าน 6,856 ครอบครัว ประชากรรวม 24,501 คน สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคของราษฎรบริเวณพื้นที่แปลงอพยพของเขื่อนสิริกิติ์ ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9
นอกจากนี้อ่างฯห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อราษฎรได้บริโภค หรือประกอบอาชีพประมงเป็นรายได้เสริม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.อุตรดิตถ์ อีกด้วย” ผอ.สำนักงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ฯ กล่าว
นายปทุม ลัคณา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งอพยพมาที่ ต.จริม ในปี 2514 ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำนาข้าว และทำสวนมะม่วงหิมพานต์ ใช้น้ำฝนทำเกษตรเป็นหลัก ถ้าปีไหนไม่มีฝนก็ไม่มีผลผลิตหรือได้น้อย ทำให้ขาดรายได้ น้ำที่นำมาใช้ในครัวเรือนต้องจ่ายเงินซื้อ แรงงานในพื้นที่จึงออกไปทำงานหารายได้ที่อื่น จนเมื่อมีการสร้างอ่าง ฯ ห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้พวกเรามีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญได้ทำนาทุกปี บางปีทำนาได้ 2-3 ครั้ง
“นอกจากนี้เกษตรกรยังมีน้ำเพื่อการปลูกพืชสวนอื่น ๆ เช่น ทุเรียน และ อินทผาลัม ที่ตอนนี้เป็นสินค้าส่งออก มาตรฐาน OTOP ระดับ 5 ดาว รวมไปถึงมะม่วงหิมพานต์ก็มีเม็ดอวบขึ้น เนื่องจากได้น้ำเพียงพอ ช่วยสร้างรายได้มั่นคง เพิ่มความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้นกว่าเดิมมาก” ผู้ใหญ่บ้าน ต.จริม กล่าวทิ้งท้าย
เอนก ธรรมใจ
รายงาน
แสดงความคิดเห็น