นายโสภณ   ซารัมย์   ประธานกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร  ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการจัดการศึกษา ของโรงเรียนขนาดเล็ก 3 แห่งที่จังหวัดบุรีรัมย์  คือ โรงเรียนบ้านซาดศึกษา ต.มะเฟือง  อ.พุทไธสง  ซึ่งมีนักเรียนอยู่ 28 คน , โรงเรียนสระขี้ตุ่น   ต.ปะเคียบ  อ.คูเมือง  มีนักเรียนอยู่ 20 คน  และโรงเรียนสวายสอ  ต.ตูมใหญ่  อ.คูเมือง  ซึ่งมีนักเรียนอยู่ 32 คน  พบว่าคุณภาพของทั้งสามโรงเรียนไม่ได้ด้อยกว่าโรงเรียนในเมือง   แต่อย่างใดก็ตามจากการพบปะสอบถามผู้ปกครองทั้งสามโรงเรียน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่อยากให้ยุบโรงเรียน   เพราะโรงเรียนตั้งแต่เริ่มแรกชาวบ้านก็สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน และก็บูรณะด้วยเงินผ้าป่ามาเรื่อยๆ  นอกจากงบประมาณทางราชการ ที่ได้มา  และยังทราบว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง   แต่ละเดือนต้องใช้ค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทแต่จากการสอบถาม  นักเรียนที่มาโรงเรียนในหมู่บ้านชุมชนตนเอง  นักเรียนจะได้เงินติดตัวไปโรงเรียนคนละ 20 บาทเท่านั้น   จึงทำให้เห็นว่าการที่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง  จะเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองอย่างมาก  และยังเป็นปัญหาสังคมในเรื่องยาเสพติด  ที่สำคัญในปฐมวัย

ส่วนหนึ่งก็ขาดความอบอุ่นยังไม่พร้อมที่จะต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก   ผู้ปกครองส่วนหนึ่งแจ้งว่าเด็กที่ไปเรียนในเมืองบางทีกลับมามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางลบ เป็นเสียงสะท้อนของผู้ปกครองทั้ง 3 แห่งไปในทิศทางเดียวกัน

ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร   ระบุว่า  ปัญหาการจัดการศึกษาของครู คือครูสอนไม่ตรงเอกการเรียนร่วมกันของเด็กสองชั้นการทำงานธุรการอื่น แต่ได้รับการยืนยันจากครูว่าเขามีความสุขกับการทำงาน   เพียงแต่ขอให้มีผู้บริหารกับนักการในสถานศึกษานั้นๆ ก็เพียงพอเป็นเสียงขอร้องจากครู  จึงมองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก  จะต้องบูรณาการกันเป็นกลุ่มโรงเรียนเพื่อใช้งบประมาณ และบุคลากรร่วมกัน  โดยมีทางองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยงอีกทางหนึ่ง  และได้รับการยืนยันจากผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องที่จะรับถ่ายโอนเด็กประถม ไปให้ท้องถิ่นดูแลการศึกษา

ทางท้องถิ่นยืนยันความพร้อมและเต็มใจในภารกิจนี้เป็นอย่างยิ่ง   หลังจากนี้ทางกรรมาธิการฯ จะได้สรุปแนวทาง ประกอบจัดทำร่าง พ.ร.บ.การสร้างชาติและเสนอฝ่ายบริหารต่างๆ ที่รับฟังต่อไป   เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ  สร้างความเชื่อมั่นแก่พ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น   

ส่วนสาเหตุที่จำนวนเด็กนักเรียนตามโรงเรียนในชุมชนลดลง   ก็มาจากหลายปัจจัย  ทั้งประชากรที่ลดลง   พ่อแม่ผู้ปกครองที่พอมีฐานะย้ายลูกหลานไปเรียนในเมืองตามค่านิยม   ส่วนผู้ปกครองที่ฐานะยากจนก็ยังอยากให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน  เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย  ลดความเสี่ยงปัญหาสังคม  และเกิดความอบอุ่นในครอบครัวด้วย  ซึ่งทั้งประเทศมีโรงเรียนมากกว่า 14,000 แห่ง  ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนหลายแห่ง

ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาทั้งระบบ   เพื่อไม่ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพราะจะส่งผลกระทบต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง 

ขณะที่นางมยุรี   ผู้ปกครองนักเรียนที่ลูกหลานโรงเรียนอยู่โรงเรียนบ้านซาดศึกษา  บอกว่า  ไม่อยากให้ยุบโรงเรียน   เพราะสะดวกต่อการส่งลูกหลานไปเรียนใกล้บ้าน  แต่หากยุบต้องไปเรียนในเมืองก็จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่ผู้ปกครอง    แต่ก็อยากให้มีการพัฒนาด้านการศึกษาให้ทัดเทียมกับโรงเรียนในเมือง   เพื่อให้ลูกหลานมีความรู้ความสามารถไม่ต่างจากเด็กในเมือง







สุรชัย    พิรักษา  / บุรีรัมย์
 

แสดงความคิดเห็น