นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานประชุม Workshop
ระบบ
Port Community System (PCS) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย
โดยมี นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ
การเดินเรือ เข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต

นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังในปีที่ผ่านมา รวมกว่า 112 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2565 และแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลกที่จะมีการใช้เรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
สามารถบรรจุตู้สินค้าได้มากขึ้น ซึ่ง กทท. กำลังขยายท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การเป็น
Smart Port ทั้งนี้ กทท. ได้พัฒนาระบบ PCS เพื่อเป็น Platform กลาง
ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือของไทย บูรณาการข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ และเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง (
Intermodal Transport) ทุกรูปแบบ เพื่อสนับสนุน
การพัฒนาบริการของ กทท. ไปสู่การเป็นท่าเรือมาตรฐานระดับสากล (
World Class Port) นอกจากนี้ระบบ PCS ยังมีการเชื่อมโยงกับระบบ National Single Window (NSW) ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ลดปริมาณงานด้านเอกสาร (
Paper Work) สามารถติดตามสถานะสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนทำงานล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อันเป็นการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย การเริ่มต้นระบบ PCS ในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจไทย ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ สนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดโลก
พัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้านำไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ PCS ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้
การขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานประกอบด้วย 7 โมดูล คือ ระบบสำหรับกิจกรรมบนเรือ (
Vessel) ระบบสำหรับกิจกรรมนำเข้า (Import) ระบบสำหรับกิจกรรมส่งออก (Export) ระบบสำหรับกิจกรรมศุลกากร (Customs) ระบบสำหรับกิจกรรมทางด้านตู้และสินค้า (Container & Cargo) ระบบสำหรับกิจกรรมการขนส่งด้านหลังท่า (Hinterland)
และระบบสำหรับข้อมูลทางธุรกิจอัจฉริยะ (
PCS Intelligence) ซึ่งระบบ PCS จะทำหน้าที่เป็น Platform กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมการขนส่งสินค้าของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)
ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน อาทิเช่น ผู้ประกอบการสายเรือ ผู้ประกอบการ
Terminal ผู้นำเข้า - ส่งออก ผู้ประกอบการคลังสินค้า ผู้ประกอบการรถบรรทุก เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคตระบบ PCS ของประเทศไทย
จะมีการเชื่อมต่อกับระบบ
PCS ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่ง
การเชื่อมโยงกับระบบ
PCS สากล จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศเป็นไป

อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการขนส่งสินค้าในตลาดโลกทำให้การวางแผน
การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการรอเรือสินค้าบริหารคลังสินค้าและการกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น





 

แสดงความคิดเห็น