โดยลำน้ำในบริเวณดังกล่าวมาจากแหล่งน้ำ 3 สาย คือ ห้วยชะเยือง ชีปะขาว และอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า แล้วรวมตัวกันไหลผ่านลอดใต้ คลองชลประทาน ผ่านไปยังคลองแม่ข่า และไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่ผ่านมาเมื่อมีมวลน้ำปริมาณมากไหลผ่านมามักจะเกิดปัญหาน้ำเอ่อล้นระบายไม่ทัน จากการที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะช่วงก่อนลอดใต้คลองชลประทานจะมีท่อระบายน้ำอยู่ 3 ท่อ ซึ่งบริเวณจุดนี้ที่ผ่านมามีการขยายถนน ส่งผลให้มีเศษวัสดุก่อสร้างบางส่วนตกไปกีดขวางทางเดินน้ำในท่อลอด และได้พยายามแก้ปัญหามา 3-4 ปีแล้วแต่ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร ดังนั้น ในปีนี้จึงได้แก้ไขปัญหาโดยการกั้นน้ำแล้วสูบน้ำน้ำออก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในท่อลอด ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่า ทางลอดของท่อและในลำน้ำมีสิ่งกีดขวางอยู่ ทั้งเศษสิ่งก่อสร้าง ท่อนซุงและมีเศษกิ่งไม้ทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง อบต.ดอนแก้ว ก็ได้มากำจัดเศษท่อนซุงและกิ่งไม้ออกไปแล้วบางส่วน และในวันนี้ทางแขวงทางหลวงที่ 2 ก็ได้มาทำการสกัดเอาเศษโครงสร้างสิ่งก่อสร้างบางส่วนที่กีดขวางทางน้ำออกไป และคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และลดปัญหาความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์
โดย นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 13 แห่ง ยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีกราว 40 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 116 แห่ง ยังรองรับน้ำได้อีกเป็นบางส่วน ทำให้ขณะนี้มั่นใจว่ายังสามารถเก็บน้ำได้อยู่ แต่ที่เป็นห่วงคือ การเกิดดินสไลด์ตามเขตพื้นที่สูง เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่าและพื้นที่ดินสูงชันเยอะ ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้มีหนังสือแจ้งเวียนไปยังอำเภอต่างๆ ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง ขณะนี้ยังมีโอกาสน้อยที่จะเกิดน้ำล้นตลิ่ง ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำมากในโซนตอนเหนือของจังหวัด อย่างไรก็ตามหากมีปริมาณน้ำไหลเข้ามายังตัวเมืองมาก ก็จะสามารถรับรู้ได้ก่อนล่วงหน้าถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้มีเวลาเพียงพอที่จะแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ยังได้มีการระดมส่วนราชการและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำและแผนเผชิญเหตุไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจุดเสี่ยงในเขตเมือง 11 จุด แบ่งเป็นในตัวเมือง 8 จุด และนอกเมือง 3 จุด เช่นเดียวกับจุดที่มาดำเนินการแก้ไขในวันนี้ที่บริเวณลำห้วยชะเยือง ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม ที่มักมีน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้มาดำเนินการโดยด่วน และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็ทำให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง และจะขยายผลการดำเนินงานไปยังจุดเสี่ยงอื่นๆ หากส่วนไหนทำได้ก็จะลงมือทำในทันที แต่ส่วนที่ต้องดำเนินการในระยะยาว ก็จะมีการจัดทำแผนงานเพื่อเสนอของบประมาณโครงการเข้ามาดำเนินการต่อไป
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม
ธนรักษ์ ศรีบุญเรือง ศูนย์ข่าวภาคเหนือ... รายงาน
แสดงความคิดเห็น