วันนี้ (21 ส.ค. 67) ที่บ้านน้ำลัด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พง์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning system) ร่วมกับ นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปี 2565 ที่ผ่านมาอำเภอจอมทองมีฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกัน ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับลกระทบเป็นวงกว้าง กรมทรัพยากรน้ำ จึงได้ติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning ซึ่งสามารถติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระดับน้ำผ่านอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
.
โดยในปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้ามาแล้ว ทั้งสิ้น 2,156 สถานี ครอบคลุม 5,947 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ และในปีงบประมาณที่ผ่านมา ตั้งแต่ตุลาคม 2566 - กรกฎาคม 2567 มีการแจ้งเตือนภัย 899 ครั้ง ในพื้นที่ 2,542 หมู่บ้าน ยังไม่พบรายงานการสูญเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ถือเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จที่สามารถช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นอย่างดีนายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำ โดย กองวิจัย พัฒนา และอุทกวิทยา และสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือด้วยมาตรการ 3 ต. คือ “เตือน” ระบบเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning มีความพร้อมใช้งานได้ปกติ มีช่องทางการติดตามสถานการณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application : EWS DWR และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง รวมถึงมีการตรวจสอบระดับน้ำให้อยู่ในระดับปกติ “ตรวจ” โดยมีการตรวจสอบความมั่นคงและการชำรุดของสิ่งก่อสร้าง อาคารบังคับน้ำต่างๆ ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และ “เตรียม” มีการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักร น้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อมใช้งาน รวมถึงน้ำดื่มสะอาด และเตรียมเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำยังได้เดินหน้าพัฒนาโครงการระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning system) อย่างต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย–ดินถล่ม บริเวณพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา เพื่อติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าพื้นที่เสี่ยง โดยใช้หลักการในการตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝนหรือระดับน้ำท่า พร้อมทั้งหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝนและเหตุการณ์อุทกภัยน้ำหลาก - ดินถล่ม ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพื่อกำหนดค่าวิกฤติที่จะใช้ในการเตือนภัยด้วย
ขณะที่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่มากถึง 14 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขา ในช่วงฤดูฝนจึงมักมีความเสี่ยงไม่น้อยที่จะเกิดสถานการณ์อุทกภัย ดินโคลนถล่มได้ โดยในปีนี้ผู้ว่ารราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้วางแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ โดยการใช้สถิติข้อมูลในอดีตปีที่ผ่านมารวมถึงการพยากรณ์อากาศมาวิเคราะห์เตรียมแผนการรับมือร่วมกับทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันอย่าง ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning system) เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการร่วมกันดำเนินงานในเชิงรุก สำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงในจังหวัด ทั้งในพื้นที่เมืองและชุมชนต่างๆ พร้อมกับติดตามสถานการณ์อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 ขนาดที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเชียงใหม่
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม
ธนรักษ์ ศรีบุญเรือง...ศูนย์ข่าวภาคเหนือ. รายงาน
แสดงความคิดเห็น