โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีอาจารย์นักวิจัย เยาวชนนักศึกษาและเครือข่าย ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทะเบียนกว่า 300 คน และมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยกว่า 50 มหาวิทยาลัยทั่งประเทสมานำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 200 บทความ
งาน ME-NETT ในครั้งนี้ มีตีมหลักของงานคือ “Innovative Approaches for a Mechanical Engineering” ที่มีความหมายในภาพรวมเกี่ยวกับแนวคิด แนวทางการพัฒนา วิธีการหรือเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อแก้ไขปัญหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืนมากกว่าเดิม ทั้งยังตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนในสังคมยุคใหม่ ในงานประชุมเครือข่าย ยังมีการบรรยายหัวข้อสำคัญ “การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” และหัวข้อ “การพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Hub of Talents)” จากผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมด้วยการออกบูธแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมการทำงาน
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วิศวกรรมเครื่องกลเป็นศาสตร์สำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและตอบโจทย์ความต้องการของสังคม วิศวกรเครื่องกลเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายแขนง ผลงานเหล่านี้ล้วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งในปัจจุบัน สังคมเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและความมั่นคง วิศวกรรมเครื่องกลมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และในนาม อว. ขอชื่นชมการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ที่เป็นการจัดประชุมวิชาการเครือข่าย ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญและดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้นับเป็นครั้งที่ 38 ที่ถือว่าเป็นเวทีวิชาการที่มีความสำคัญในการเผยแพร่ผลงานวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงการทำงานและสอดรับกับทิศทางของ อว. ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ ประธานคณะกรรมการการจัดงานประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทยครั้งที่ 38 ที่ มทร.ธัญบุรี เป็นเจ้าภาพหลักการจัดงาน กล่าวเสริมว่าการประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 38 หรือ ME-NETT38th ที่เกิดขึ้นนี้ มีผลที่เกิดขึ้นหลายด้าน เช่น เป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและความรู้ ในรูปแบบของเวทีการประชุมวิชาการเครือข่าย ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาได้เผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอผลงานวิจัยของตนต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ ต่อยอด และพัฒนาผลงานวิจัยต่อไป
ทั้งยังเป็นเวทีที่ให้ผู้คนจากหลากหลายสาขา หลากหลายสถาบัน ได้พบปะสร้างความสัมพันธ์ และต่อยอดความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การร่วมวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการร่วมพัฒนาโครงการ ที่ถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างดี
รองศาสตราจารย์ ดร.วิรชัย กล่าวอีกด้วยว่า ภายในงานยังมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชั้นนำ นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมล่าสุด ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสามารถติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แนวโน้มการวิจัย และทิศทางการพัฒนาในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบัน จากการเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมวิชาการเครือข่าย ที่แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อม และความเชี่ยวชาญของสถาบัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนร่วมด้วย
การประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทยครั้งที่ 38 เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้สนใจในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุด ที่สำคัญยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนวัตกรรม และพัฒนาวิศวกรรมเครื่องกลสู่ความยั่งยืน ผู้สนใจสามารถติดตามต่อได้ที่ https://www.facebook.com/menett38th และ https://www.facebook.com/engineeringrmutt
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานี รายงาน
แสดงความคิดเห็น