ที่ห้องประชุมศรีกิจ บ้านสวน รีสอร์ท อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นายภูมิวัชร์ อุดมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัด มีพัฒนาการจังหวัดสระแก้ว คณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดสระแก้ว เข้าร่วม
นายสุชาติ ภัคพาณิชย์ พัฒนาการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ และการมีงานทำแก่ประชาชน ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมรายได้ด้วยการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญา และทรัพยากรท้องถิ่นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP และรัฐบาลได้ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชนและการส่งเสริมบทบาทของสถาบันการศึกษา ในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อผนึกกำลัง ของทุกภาคส่วนในชุมชนขับเคลื่อน OTOP สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนในรูปแบบของเครือข่ายองค์ความรู้ชุมชน หรือ Knowledge – Based OTOP : KBO
พัฒนาการจังหวัดสระแก้ว กล่าวต่อว่าจังหวัดสระแก้ว ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัด กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน การพัฒนาขีดความสามารถ ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOPในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ดำเนินการ 2 วัน ระหว่างวันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2567 ณ ศรีกิจ บ้านสวน รีสอร์ท ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว กลุ่มเป้าหมายจำนวน 40 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด จำนวน 20 คน และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผู้ผลิตชุมชน ที่มีผลิตภัณฑ์ระดับ 1 - 3 ดาว และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มปรับตัว สู่การพัฒนา (Quadrant - D) จำนวน 20 กลุ่ม ๆ ละ 1 คน รวม 20 คน มีวิทยากรจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความรู้
นายภูมิวัชร์ อุดมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด คือ เป็นศูนย์กลาง ในการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตชุมชนในการประกอบการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยในปีงบประมาณ 2567 มีเป้าหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเภทกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ที่ต้องการได้รับการพัฒนาทั้งในด้านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน การใช้ประโยชน์ บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย
ภาพข่าว : ทีมข่าว ส.ปชส.สระแก้ว
แสดงความคิดเห็น