วันที่ 27 มิถุนายน 2567 ณ วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสานฐานเรียนรู้สวนคุณย่า ชุมชนหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานจัดเวทีถอดบทเรียน "โครงการปุ๋ยใบไม้ ศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีนายอดิศร วังมูล ผู้อำนวยการสายงานบริหารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด นางกาญจนา เตลียโชติ ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองมาบตาพุด นายประไพ ใจตั้ง ประธานวิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน ฐานการเรียนรู้สวนคุณย่า ชุมชนหนองแฟบ พนักงานบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มอสม.และปปช.ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
ในการนี้บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ) ร่วมกับชุมชนหนองแฟบ และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดเวทีถอดบทเรียน "โครงการปุ๋ยใบไม้ ศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) โครงการนี้เป็นต้นแบบความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการลดขยะใบไม้และเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างรายได้ให้ชุมชน และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร
นายอดิศร วังมูล ผู้อำนวยการสายงานบริหารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า "โครงการปุ๋ยใบไม้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของบีแอลซีพีในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) โดยตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2565 สามารถลดขยะใบไม้ได้กว่า 130 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 111.45 ตัน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 240 ตันในปีนี้ นอกจากนี้ เรายังลดระยะเวลาการผลิตปุ๋ยหมักจาก 6 เดือน เหลือเพียง 45 วันเท่านั้น"
นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด กล่าวเสริมว่า "โครงการนี้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สร้างประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"นายประไพ ใจตั้ง ประธานวิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสานฐานเรียนรู้สวนคุณย่า ชุมชนหนองแฟบ กล่าวว่า "ชุมชนของเรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างรายได้และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองให้กับชุมชน"
เวทีถอดบทเรียนครั้งนี้เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำปุ๋ยใบไม้ ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตามหลักการ ESG และ ISO 26000 รวมถึงนำเสนอผลสำเร็จและแผนการดำเนินงานในอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและขยายผลความสำเร็จของโครงการไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป บีแอลซีพี มุ่งพัฒนาพลังงานที่มั่นคง เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 

แสดงความคิดเห็น