เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปกรณ์  จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน นายสังคม  คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ ตรวจติดตามคอกกักสัตว์ ผู้ประกอบการบ้านนาปลาจาด   ต.ห้วยผา และบ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อรวบรวมข้อมูลการเตรียมความพร้อมของคอกกักสัตว์แต่ละแห่งและการแก้ไขปัญหา  ความต้องการของผู้ประกอบการค้าโค- กระบือ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนที่จะมีการอนุญาตให้นำเข้าโค - กระบือ จากประเทศเมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน
           
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์/ ประธานคณะกรรมการด้านการตลาดและผลิตภัณท์โค-กระบือ เปิดเผยว่า ต้องยอมรับข้อเท็จจริงถึงภาวะการตลาดราคาโคมีชีวิตในประเทศไทย โดยเฉพาะโค-กระบือ ที่เกษตรกรเลี้ยงราคาตกต่ำมาก  ปัจจุบันยังไม่มีการนำเข้า และส่งออกน้อย ทำให้โคในประเทศมีจำนวนมากเกือบ 10 ล้านตัว ไทยเราก็ต้องการระบายออกต่างประเทศและบริโภคภายในประเทศ
          


ที่ปรึกษารัฐมนตรี ฯ กล่าวต่อไปว่า การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนนอกจากมาติดตามเรื่องแม่ฮ่องสอนโดเดลที่จะพัฒนาแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดแล้ว ก็มาติดตามความพร้อมรวมทั้งด่านชายแดนแม่ฮ่องสอน คอกกัก จากการตรวจติดตาม จะต้องให้คำแนะนำผู้ประกอบการค้าโค เพิ่มคอกเสริมอีกคอก ให้อยู่คนละโซนกัน  เพราะถ้ากรณีพบโคที่ป่วยจะต้องแยกออกไปกักกันไว้ในคอกเสริม และกฎ ระเบียบ การนำเข้า การกัก การส่งออก จะต้องเคร่งครัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว  เมื่อก่อนโค-กระบือจากนอกประเทศเข้ามาเราซุ่มเจาะเลือดแค่ร้อยละ 20 แต่ต่อไปนี้เราจะต้องวางหลักเกณฑ์ใหม่ โคทุกตัวที่นำเข้ามาจะต้องเจาะเลือดทุกตัว   การวางกฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าโค กระบือ จากนอกประเทศเรื่องโรคติดต่อเป็นสิ่งที่สำคัญต้องระมัดระวังให้มาก หากโรคติดต่อแพร่กระจายในประเทศถือว่าเป็นเรืองใหญ่มาก เราต้องเพิ่มมาตรการเข้าไป เช่นการเจาะเลือดทุกตัวที่นำเข้ามา ไม่สุ่มตรวจเหมือนเมื่อก่อน โคที่เข้ามาต้องได้รับวัคซีน ต้องมีภูมิต้านทาน พื้นที่กักจะต้องมีระบบดีขึ้น ตั๋วใบหูจะต้องทำระบบใหม่ให้มีความมั่นคงและถาวร และจะต้องระบุได้ว่าโคแต่ละตัวเลี้ยงอยู่ที่ไหน  นำเข้าจากที่ไหน จนกว่าจะส่งออกจากด่านชายแดนไปต่างประเทศ การกักหลังจากนำเข้ามาก็จะอยู่ที่ 28-30 วัน และอยากจะเน้นที่แม่ฮ่องสอน คือแหล่งอาหารมีน้อยต้องไปเอาแหล่งอาหารจากจังหวัดอื่นมา กว่าจะขนส่งไปถึงแม่ฮ่องสอนต้นทุนสูง ผู้ประกอบการจะต้องมีแหล่งอาหารในพื้นที่  เป็นการขยายอาชีพเรื่องอาหารสัตว์อีกอาชีพหนึ่ง จะทำให้กับเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าหากระบบทั้งหมดในแต่ละจังหวัดได้รับการแก้ไขตามกฎระเบียบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรมปศุสัตว์วางไว้ ก็จะอนุญาตให้นำเข้าโค- กระบือ จากต่างประเทศได้ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรผู้ประกอบการค้าโค- กระบือ  
      

นายปกรณ์  จีนาคำ  สส.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เหตุผลที่กรมปศุสัตว์ชะลอการนำเข้าโค-กระบือ จากประเทศเมียนมาเข้ามาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นห่วงเรื่องโรคปากเท้าเปื่อยและการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ส่วนการลักลอบนำเข้าขณะนี้ยังไม่มี เนื่องจากเจ้าหน้าที่กำกับดูแลอย่างเข้มข้น ตนเองได้นำข้อมูล ปัญหาของผู้ประกอบการไปหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้มีการอนุญาตนำเข้าโค กระบือ จากเมียนมา และรัฐมนตรี ฯ ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดู หาข้อมูล เตรียมความพร้อม  คาดว่ากรมปศุสัตว์จะมีแนวทาง มีการผ่อนปรนในเรื่องการนำเข้า และผู้ประกอบการค้าโค กระบือ ในพื้นที่ก็มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการใหม่ของกรมปศุสัตว์ในเรื่องการกำกับดูแล ให้เป็นไปตามมาตรฐาน การที่กรมปศุสัตว์จะอนุญาตให้นำเข้า ก็ต้องมั่นใจว่าปลอดโรคร้อยเปอร์เซ็นต์ หากพบโรคตัวใดตัวหนึ่ง ก็จะมีผลกระทบในประเทศและกระทบต่อการส่งออกนอกประเทศด้วย
        
นายชาตรี คำจิ่ง กำนันตำบลห้วยผา/ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าโค-กระบืออำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้หารือกันหลายรอบเรื่องความพร้อมซึ่งเป็นเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์ ส่วนใหญ่ที่แม่ฮ่องสอนเราเป็นคอกกักก่อนส่งต่อ เงื่อนไขการกักโรค ควบคุมโรค การส่งออก ผู้ประกอบการยอมรับในเงื่อนไข และหาแนวทางที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกรมปศุสัตว์
          


นางสุนทรี  จันปาลี ผู้ประกอบการค้าโค กระบือ กล่าวว่า การนำเข้าในครั้งนี้ เข้มงวดกว่าครั้งก่อน  ไม่ใช่เป็นการนำเข้ามากระจายภายในประเทศ  แต่เป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกนอกประเทศ ขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเรื่องคอกกัก เรื่องมาตรฐาน ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ส่วนพ่อค้าฝั่งประเทศเมียนมาเราก็ได้เจรจาพูดคุยกันแล้ว ให้ทางฝั่งเมียนมาช่วยดูเรื่องโรคต่าง ๆ ก่อนจะส่งเข้ามาในแม่ฮ่องสอน ส่วนจำนวนโคกระบือที่จะทำการซื้อขายกันระหว่างพ่อค้าไทยกับพ่อค้าเมียนมายังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะว่ายังไม่ทราบว่ากรมปศุสัตว์จะอนุญาตเปิดให้นำเข้าเมื่อไหร่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่เราเคยสั่งซื้อโค กระบือไปแล้ว   เมื่อมาถึงชายแดนไทย เมียนมา แต่ทางกรมปศุสัตว์ชะลอ ยังไม่อนุญาตนำเข้า ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน เพราะจะต้องดูแลโค กระบือ อยู่ที่ชายแดนนอกประเทศ  เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากมาย จึงต้องชะลอการสั่งซื้อโคจากเมียนมาไว้ก่อนจนกว่าจะแน่ใจว่าไทยเราอนุญาต  ผู้ประกอบการเรายอมรับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของกรมทั้งหมด เพราะว่าปิดมานาน ราคาโคในประเทศไทยก็ไม่ขยับขึ้น และอยากให้ทุกอย่างมันขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้

ภาพข่าว : ทศพล ทีมข่าวแม่ฮ่องสอน/รายงาน

แสดงความคิดเห็น