ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ชี้แจงและตอบข้อซักถามในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 กรณีนายกฤดิทัช แสงธนโยธิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงคมนาคมไม่ได้มีการพัฒนาลงทุนระบบรางที่เพียงพอ ควรพัฒนาลงทุนระบบรางทั้งประเทศนั้น ข้อเท็จจริงคือ กระทรวงคมนาคมได้เน้นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ โดยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางและทางน้ำให้มากขึ้น ซึ่งการคมนาคมทางรางโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะใช้เงินนอกงบประมาณในการลงทุนเป็นหลัก และเมื่อพิจารณางบประมาณทางถนน ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ จะพบว่า สัดส่วนการลงทุนระบบรางเป็นเงินนอกงบประมาณมีสัดส่วนสูงถึง 48.26% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ใช้เงินนอกงบประมาณ
สำหรับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยสร้างไทย ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรงบประมาณซ่อมบำรุงของกระทรวงคมนาคม ที่ระบุว่าใช้งบเป็นจำนวนมากถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นเพราะการก่อสร้างถนนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินมากเกินไปหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีมาตรฐานการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีคุณภาพ ความปลอดภัย อายุการใช้งานที่ยั่งยืน โดยมีคู่มือในการกำกับดูแลการก่อสร้างซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและควบคุมงานใช้เป็นมาตรฐานในการกำกับดูแลการก่อสร้าง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากอายุการใช้งานจำเป็นต้องบำรุงรักษาให้ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก สำหรับการบำรุงรักษาถนนทางหลวงและทางหลวงชนบท แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การบำรุงปกติ เป็นงบประมาณที่ต้องตั้งทุกปีเพื่อดูแลถนนให้สะอาด อยู่ในสภาพดี ประชาชนสามารถสัญจรไป - มาได้ตลอดเวลา ประเภทที่ 2 บำรุงรักษาตามกำหนดเวลา เป็นงบประมาณที่ใช้ในการบำรุงและซ่อมแซมสำหรับถนนที่เปิดใช้งานไปแล้ว 3 ปี และมีความเสียหายเล็กน้อย และประเภทที่ 3 เป็นการบำรุงประเภทพิเศษ ซึ่งเป็นงบประมาณในการซ่อมใหญ่ เมื่อถนนใช้ไปเวลาเป็นนานจะมีความเสียหายที่รุนแรง ส่วนความห่วงใยว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เนื่องจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินไปหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับเน้นย้ำให้ ทล. และ ทช. ตรวจจับรถบรรทุกอย่างเข้มงวดห้ามรับส่วยเด็ดขาด หากมีการรับส่วยเกิดขึ้นจะลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างหนัก และจากข้อมูลการตรวจจับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินพบว่า ก่อนการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มีรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินมากถึง 3,416 คัน/ปี แต่หลังจากการเข้ามาบริหารของรัฐบาลเพียง 8 เดือน พบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 1,998 คัน จำนวนที่ลดลงเนื่องจากการตรวจจับที่เข้มงวด รวมถึงการตั้งด่านตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่มากขึ้น ถือเป็นความใส่ใจของกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ จากการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมยังมีผลงานที่เป็นประจักษ์ จะเห็นว่าการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD ของประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับเลื่อนขึ้นจากลำดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25 และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์เท่านั้น
“กระทรวงคมนาคมขอรับคำแนะนำจากสมาชิกสภาฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงคมนาคมและประชาชน ทำให้กระทรวงฯ ดำเนินการได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนภายใต้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวเสมอว่า อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดทำทันที ภายใต้คำขวัญ “กระทรวงคมนาคม เพื่อความอุดุมสุขของประชาชน” ดร.มนพร กล่าว
แสดงความคิดเห็น