วันนี้ 11 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 4 ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผมได้นำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมกับส่วนราชการเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งฯ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทาง ผวจ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งรอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ท่าน สส.ในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างดี

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลับประสบปัญหาเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม รวมทั้งปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นมันเกิดขึ้นในทุกปี แต่ถ้าจะแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนและมั่นคง ทุกคนจะต้องมาลงมือช่วยกันในการปลูกต้นไม้หรือสวนป่าเพื่อให้ผืนป่ากลับมาฟื้นฟูเหมือนในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่ประเทศไทยของเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และไม้พรรณนานาชนิด

ซึ่งพื้นที่ของประเทศไทยเราตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นโซนร้อนทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน ทำให้มีฝนตกเกิดความชุ่มชื้นสู่สภาพอากาศโดยรวมของประเทศ และเมื่อถ้ามีแดดจะทำให้ต้นไม้ที่นำมาปลูกเติบโตเร็วมากว่าแถบยุโรปและอเมริการวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งในต่างประเทศเขาได้พยายามสร้างป่าขึ้นมาเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมรวมทั้งนำเนื้อไม้ไปใช้ประโยชน์ แต่ต้นไม้ที่ปลูกในประเทศไทยจะเติบโตเร็วกว่ายุโรปหรือญี่ปุ่นถึง 3 เท่า ซึ่งการปลูกต้นไม้หรือปลูกสวนป่าขึ้นในประเทศไทยนั้นมันไม่ใช่เรื่องยาก ขั้นตอนการดูแลรักษาก็ง่ายกว่าทางยุโรปหรือญี่ปุ่น

สำหรับการปลูกป่าพื้นที่เหมาะสมคือจะต้องปลูกในพื้นที่สูง เพราะผืนป่า 1 ไร่ จะสามารถเก็บน้ำใต้ดินได้มากถึงประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตร หากปลูกป่าในพื้นที่สูงรวมกันได้ 1 ล้านไร่ จะสามารถเก็บน้ำได้มากถึง 600 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งการปลูกป่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนและการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้นไม้ 1 ต้นยังสามารถช่วยลดอุณหภูมิความร้อนให้เย็นลงได้ 2-4 องศาฯ ซึ่งจะทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ว ภัยน้ำท่วม รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราได้อย่างยั่งยืน

แต่อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชนบทได้ทำการตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนาแล้วนำไปขายในราคากิโลกรัมละประมาณ 1 บาท หรือนำไปขายในราคาตันละประมาณ 800-1,000 บาท ซึ่งต้นไม้ที่ถูกตัดนำไปขายนั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย 

ดังนั้นจึงฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงพื้นที่เพื่อไปสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ทราบว่าการตัดต้นไม้ดังกล่าวมันเป็นการเพิ่มภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ทั้ง 3 ด้าน ทั้งภัยพิบัติด้านการเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมและฝุ่น PM2.5 จึงขอให้ผู้ที่กำลังคิดจะตัดไม้ไปขายช่วยกันตระหนักและไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน


ปรีชา ไหลวารินทร์ ทีมข่าวกาญจนบุรี/รายงาน

แสดงความคิดเห็น