โดยในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) มาตรา 36 กำหนดให้ ผู้สมัคร สว. อาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด และในวรรคสองระบุว่า บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ก็ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขนี้ด้วย


จากมาตรา 36 พอจะสรุปได้ว่า การแนะนำตัวผู้สมัคร สว. จะเป็นไปตามวิธีการที่ กกต. กำหนดขึ้น และขอบเขตของการแนะนำตัว ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “ผู้สมัคร สว.” เท่านั้น เพราะกฎหมายยังเปิดช่องให้ บุคคลอื่นสามารถช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวได้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดเช่นกัน ถ้าตัวผู้สมัครไม่ได้ทำเองแต่ให้คนอื่นไปหาเสียงให้ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเดียวกันนี้


มาตรา 70 ของพ.ร.ป.สว.ฯ กำหนดบทลงโทษไว้ด้วยว่า หากผู้สมัครหรือบุคคลอื่นที่ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่ กกต. กำหนด จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี


ซึ่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 มติชนออนไลน์ รายงานบทสัมภาษณ์ของแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ว่า จะมีระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการแนะนำตัวผู้ลงสมัคร แต่กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างอยู่ คาดว่าน่าจะเสร็จเร็วๆ นี้ และจนถึงช่วงวันหยุดสงกรานต์ 12 เมษายน 2567 ระเบียบดังกล่าวก็ยังไม่ประกาศออกมาให้เห็น


ในระหว่างที่ระเบียบ กกต. เรื่องการแนะนำตัว ยังไม่ออกมา ผู้ที่สนใจจะสมัคร สว. หลายคนก็เริ่มประกาศตัวว่าจะสมัคร สว. แล้ว แต่ก็มีคำถามว่า “เส้น” ของการแสดงตัว การแนะนำตัวเอง จะทำได้แค่ไหน ผู้ที่สนใจจะสมัคร สว. จะสามารถประกาศจุดยืนได้หรือไม่ว่าหากได้รับเลือกให้เป็น สว. แล้วจะยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายแบบใดบ้าง จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560


คำตอบคือ ระหว่างที่ระเบียบ กกต. เรื่องการแนะนำตัวยังไม่ออก ว่าที่ผู้สมัครสว. สามารถแนะนำตัวเอง ประกาศจุดยืน ใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การกระทำให้ที่กระทำไป “ก่อน” กกต. ออกระเบียบ ก็จะไม่มีความผิดใดๆ ด้วยเหตุผลทางกฎหมายสองข้อ คือ


หนึ่ง ในพ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 70 กำหนดเงื่อนไขสำคัญสำหรับความผิดเกี่ยวกับการแนะนำตัว คือ “ไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่กกต. กำหนด” ในเมื่อ กกต. ยังไม่ออกระเบียบเรื่องการแนะนำตัวออกมา เงื่อนไขที่บุคคลจะทำผิดตามมาตรานี้จึงยังไม่ครบ ไม่สามารถใช้เอาผิดกับบุคคลใด


สอง มาตรา 70 มีส่วนที่กำหนดความผิดและโทษทางอาญา ตามหลักกฎหมายอาญาแล้ว กฎหมายจะไม่บังคับใช้ “ย้อนหลัง” เพื่อเป็นโทษกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 ที่กำหนดว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่กระทำสิ่งใดที่กฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้


ดังนั้น ระหว่างที่ กกต. ยังไม่ออกระเบียบ ผู้สนใจจะสมัครสว. สามารถแนะนำตัว ประกาศจุดยืนได้ ขอแค่ไม่ขัดต่อข้อห้ามอื่นๆ ในพ.ร.ป.สว.ฯ เช่น ต้องไม่ “ซื้อเสียง” หรือให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือหลอกลวง ข่มขู่ เพื่อจูงใจให้ใครไปสมัคร สว. หรือจัดมหรสพ หรือจัดเลี้ยงเพื่อการแนะนำตัว ตามมาตรา 77


อาทิเช่น พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ หรือ “ปิงปอง” โปรดิวเซอร์เพลง และอดีตศิลปินวง “ละมุนแบนด์” จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวประชาไทหทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) เดอะอีสานเรคคอร์ด ปภาดา ถาวรเศรษฐ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเกริก "ตระกูลสายทหารการเมือง" ฯลฯ


บรรดาผู้ร่วมเปิดตัวลงสมัคร สว. ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการพบปะและแนะนำตัวซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การจัดตั้งกลุ่มโดยบุคคลหรือกลุ่มองค์กรใด ซึ่งหลายคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มารวมตัวกันเพราะต้องการ “สร้างปรากฏการณ์” เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนคนธรรมดาที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายออกมาสมัครเป็น สว. และเป็นโหวตเตอร์


นอกจากนี้ พนัส ยังเลขาธิการ กกต. ให้ชี้แจงและตอบให้ชัดเจนว่า คำว่า “ห้ามฮั้วกัน” หมายคืออะไร อย่าพูดลอย ๆ ไม่ใช่ให้ทำไปก่อน แล้วมาสอยทีหลัง ซึ่งตามความเข้าใจของนักกฎหมายรายนี้คือมีการขนคนไปลงสมัครในระดับอำเภอ

ก่อนหน้านี้ ประธาน กกต. ระบุว่า การเปิดตัวผู้สมัคร สว. “ทำได้ เพราะเป็นเรื่องปกติหากแสดงความสนใจก็บอกได้ ไม่มีใครห้าม”

แสดงความคิดเห็น