เจ้าพ่อพระปรงมีนามเดิมว่า หลวงเดชาศิริ อดีตเป็นนายด่านรักษาการณ์อยู่ชายแดนเขตนี้ เป็นผู้มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว เป็นที่เคารพของบุคคลทั่วไป มีสหายคู่ใจคือ นายเสือกับนายสิงห์ ปัจจุบันเจ้าพ่อเสืออยู่ที่แควหนุมาน และเจ้าพ่อสิงห์อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อมีผู้มาอธิษฐานขอพรแล้วประสบความสำเร็จสมความปรารถนา จึงมีผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธา ศาลเจ้าพ่อพระปรงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชนลุ่มน้ำบ้านหนองผูกเต่ามาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่ริมถนนสุวรรณศร (หมายเลข 33) สุดเขต อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  ต่อกับเขต จ.สระแก้ว  ริมแควพระปรง  ซึ่งเป็นลำน้ำกั้นเขตแดนสองจังหวัด  


เริ่มแรกศาลเจ้าพ่อพระปรงเป็นศาลไม้เล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณริมแควพระปรง หมู่ที่ 8 บ้านหนองโดน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ริมถนนสายสุวรรณศร (สาย 33 เดิม หรือชาวบ้านเรียกว่าถนนเก่า) ชาวบ้านหนองผูกเต่ามีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพระปรง จึงได้ร่วมกันบูรณะและกราบไหว้บูชา และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านหนองผูกเต่าเป็นต้นมา  ประเพณีมาเริ่มต้นเมื่อพระคำหล้า ขันติสาโร นายสมัย จันทวงษ์ และนายบุญรัตน์ เชื้อแก้วพร้อมด้วยชาวบ้านหนองผูกเต่า ได้ร่วมกันอัญเชิญเจ้าพ่อพระปรงมาประดิษฐานที่สี่แยกถนนเก่า (ถนนสายสุวรรณศร หมายเลข 33 เดิม) บริเวณหน้าบ้านของนายสมัย จันทวงษ์  เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมาขอพรอันศักดิ์สิทธิ์จากเจ้าพ่อพระปรง ร่วมสรงน้ำและบริจาคเงินในเทศกาลสงกรานต์ โดยนำเงินที่ได้มาซื้อสังกะสีมุงหลังคาศาลาการเปรียญวัดบ้านหนองผูกเต่า ตั้งแต่นั้นจึงกลายมาเป็นประเพณีของชุมชนเป็นต้นมา
 
จนถึงปีพ.ศ.2527 ผู้นำหมู่บ้านนำโดยนายบุญรัตน์ เชื้อแก้ว (ผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น) พร้อมด้วยนายสมัย จันทวงษ์ นายสวาท และชาวบ้านส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นว่าปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินได้ย้ายเส้นทางมาถนนสายใหม่ จึงร่วมกันย้ายศาลเจ้าพ่อพระปรงมาตั้งอยู่ ณ บริเวณสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันจนถึงทุกวันนี้ สำหรับเงินบริจาคที่ได้จะนำมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดบ้านหนองผูกเต่าเป็นประจำทุกปีจนก่อสร้างพระอุโบสถสำเร็จ ในปี พ.ศ.2528 หลังจากนั้นคณะกรรมการได้แยกศาลเจ้าพ่อพระปรงออกจากวัดและคนในชุมชน  มาดำเนินการที่ศาลเจ้าพ่อโดยตรง ภายใต้การจัดการของนายบุญรัตน์ เชื้อแก้วและคณะที่ผลัดเปลี่ยนเข้าร่วมดำเนินการ  
 

เจ้าพ่อพระปรงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียงนับถือเป็นอย่างมาก ในแต่ละวันจะมีประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา แวะสักการะกราบไหว้หรือไม่ก็บีบแตรยานพาหนะเป็นการคารวะ  และในช่วงวันที่ 19 เมษายนหรือหลังเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะมีการสรงน้ำเจ้าพ่อพระปรง  โดยในช่วงเช้าจะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และทอดผ้าป่า จากนั้นช่วงสายๆ จะอัญเชิญเจ้าพ่อพระปรงมาตั้งบนรถที่ประดับดอกไม้ ริ้วผ้าสวยงาม 
 
ในขณะที่ประชาชนจะมารอร่วมขบวนแห่ตั้งแต่เช้า จนถึงเวลาเคลื่อนขบวนที่จะมีรถยนต์จากที่ต่างๆ ทยอยมาสมทบตามระยะทางเรื่อยๆ จนเป็นขบวนแห่ยาวเป็นกิโล ซึ่งรถแต่ละคันจะบรรทุกคน ถังน้ำ เครื่องเสียง และเครื่องดนตรี เตรียมสรงน้ำเจ้าพ่อฯ ก่อนเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานตลอดระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรจนถึงศาลากลางจังหวัด โดยเฉพาะในตลาดสระแก้วจะมีประชาชนมาร่วมสรงน้ำเจ้าพ่อพระปรง ชาวสระแก้วจากทุกอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงนับหมื่นจะแห่มาเล่นน้ำส่งท้ายสงกรานต์ในงานวันไหลสระแก้ว โดยในระยะหลังนอกจากขบวนเจ้าพ่อพระปรงแล้วยังอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากวัดต่างๆ ในจังหวัดสระแก้วมาร่วมแห่ให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ ตำนาน นิทานพื้นบ้านจังหวัดสระแก้ว เรื่องเล่า เล่าเรื่องเมืองสระแก้ว โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว
--------------------------------------------------------------
ที่มา : teera saengsuradej 
          ธีระ แสงสุรเดช Fanpage

แสดงความคิดเห็น